เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน แน่นอนว่าอาการที่หลายคนมักเป็นกันคงหนีไม่พ้นอาการปวดเมื่อยตามร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหลังที่ถือว่าเป็นอาการยอดฮิตสำหรับคนที่ต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน แม้อาการปวดหลังดูจะเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ แต่ถ้าหากเราละเลยโดยไม่ได้สนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งทำงานของตัวเองให้ถูกต้อง จากแค่อาการปวดหลังธรรมดาก็อาจจะพัฒนากลายเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การเดิน, การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการควบคุมการขับถ่าย เป็นต้น และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เรื่องทั้งหมดที่ว่ามานี้เกิดขึ้น วันนี้เราเลยอยากจะชวนทุกคนมาเช็ก 4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกัน
หมอนรองกระดูกคืออะไร?
ก่อนจะพาทุกคนไปสำรวจตัวเองกับเช็กลิสต์ที่เราเตรียมมาในวันนี้ เราอยากจะขอพูดถึงข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกกันก่อนสักเล็กน้อย โดยอวัยวะดังกล่าวนั้นสามารถพบได้ตามปล้องของกระดูกสันหลัง ส่วนรูปร่างของอวัยวะชิ้นนี้จะมีลักษณะอ่อนนิ่มเหมือนกับยาง และภายในจะมีของเหลวหนืดคล้ายเยลลี่ซึ่งทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกจากน้ำหนักตัว และช่วยให้เราสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามต้องการ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร?
อาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกจนทำให้ของเหลวหนืดที่อยู่ด้านในไหลไปเบียดกับเส้นประสาทอยู่ตามกระดูกสันหลังจนทำให้เกิดผลกระทบตามมา ส่วนสาเหตุของการเกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายข้อด้วยกันแต่ส่วนใหญ่มักจะมาจากสภาพร่างกายที่ถดถอยตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น, น้ำหนักตัวที่มากเกินไป, การนั่งผิดท่า และการยกของหนักเป็นประจำ เป็นต้น
เช็กลิสต์ 4 สัญญาณของอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ปวดหลังเป็นๆ หายๆ
ผู้ที่มีอาการมักจะรู้สึกปวดๆ หายๆ ตามแนวเส้นกระดูกสันหลังโดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนหลังหรือไม่ก็ส่วนบนที่ใกล้กับท้ายทอย
ปวดร้าว
นอกจากจะรู้สึกถึงอาการปวดหลังที่มักจะเป็นๆ หายๆ แล้ว อาการเบื้องต้นลำดับต่อมาที่ผู้มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักเป็นกันคืออาการปวดหลังสลับกับอาการปวดร้าวบริเวณแผ่นหลังตามแนวกระดูกสันหลัง ซึ่งในบางกรณีอาการปวดร้าวดังกล่าวก็มักจะลุกลามไปถึงอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาทิ ปวดร้าวลงหน่อง, ขา และเท้า เป็นต้น
เดินไม่ค่อยได้
เนื่องจากเส้นประสาทของได้รับผลกระทบ ดังนั้นผลข้างเคียงที่มักจะตามมาก็คือการส่งผลกระทบคืออาการชาในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการเป็นตะคริวจนส่งผลให้ผู้ที่มีอาการไม่สามารถเดินไกลๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และต้องหยุดพักทุกครั้งเมื่อมีอาการ
ขาอ่อนแรง
สำหรับใครที่ลองสำรวจตัวเองดูแล้วพบว่าเราเดินได้ไม่ค่อยไกลหรือมีอาการขาอ่อนแรงเนื่องจากอาการชา เราอยากจะแนะนำให้ทุกคนรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม เพราะสัญญาณที่ว่ามาทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาการที่บ่งบอกว่าเรากำลังเผชิญกับอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระดับรุนแรงแล้ว
เป็นยังไงกันบ้างกับ 4 เช็กลิสต์อาการที่เราหยิบเอามาฝากกันวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกเรื่องราวที่ทำเสนอไปคงจะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยนะ